วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

ความรุ้ดนตรีไทย

สมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จากประวัติศาสตร์และพงศาวดารที่อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้กล่าวว่าไทยเราในสมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น ปรากฏหลักฐานว่ามีเครื่องดนตรี เช่น กลอง ฆ้อง กรับ เจแวง ปี่พาทย์ พิณเพี้ยะ และเพลงกลอน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยเรานั้นมีความเจริญก้าวหน้าทางการดนตรีมาแต่เก่าก่อน
แสดงว่าประวัติศาสตร์และพงศาวดารก็ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาและความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนที่เข้าสู่ยุคสมัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของชาติไทยที่เริ่มเป็นประเทศขึ้นคือ กรุงสุโขทัย ดนตรีไทยและเพลงในสมัยโบราณหรือสมัยก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนี้ สันนิษฐานกันว่าหลักฐานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะบ่งบอกได้ก็คือ “เครื่องดนตรี” และเครื่องดนตรีที่มีความเก่าแก่มากและเชื่อว่าเป็นเครื่องดนตรีไทยโบราณของไทยก็คือ “แคน”
แคน หลักฐานที่ยืนยันว่า แคนคือเครื่องดนตรีของไทยโบราณนั้นพบได้จากบันทึกของจีน คือ
ที่เมือง Changsha แคว้นยูนนาน เป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุง เขาได้พบศพ ๒ ศพ ที่เกรียวกราวมากคือเป็นศพที่มีอายุตั้ง ๒,๐๐๐ ปี แล้วร่างกายอยู่อย่างเก่าเอาอะไรกดเข้าไปก็ไม่เป็นอะไร แล้วก็เครื่องแต่งกายที่วิจิตรพิสดารมาก รัฐบาลของเขาให้ชื่อศพนี้ว่า “The Duke of Tai and his Consart” ในข้าง ๆ ศพ ปรากฏสิ่งของอยู่ ๒ อย่างคือ เครื่องใช้ประจำวันเป็นเครื่องเขิน เครื่องเขินที่คล้าย ๆ กับเชียวใหม่เรานี้ แล้วก็เป็นจำนวนนับร้อย แล้วอีกสิ่งหนึ่งก็เป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ตรงกับของเราที่เรียกว่าแคน
จากบันทึกของจีนที่บันทึกว่าจีนมีแคนใช้มาประมาณ ๓,๐๐๐ ปี แต่จีนมีแคนใช้หลังไทย เพราะฉะนั้นแคนไทยต้องมีอายุมากกว่า ๓,๐๐๐ ปี ที่กล่าวว่าจีนมีแคนใช้หลังไทยเพราะถ้าใช้หลักการเปรียบเทียบรูปร่างเครื่องดนตรีประเภทเดียวกันและวัสดุที่ประกอบเครื่องดนตรีตามทฤษฎี Ethnomusicology แล้วจะเห็นว่า แคนจีน (Sheng) อ่านว่า เชิง…มีรูปร่างกระทัดรัดสวยงามกว่าแคนไทย ทั้งนี้เพราะมีแบบอย่างแคนไทย ซึ่งรูปร่างยาวเก้งก้าง และใช้วัสดุที่ทนทานไม่เท่ากับแคนจีน เป็นตัวอย่างหรือเป็นแม่แบบแสดงว่าจีนประดิษฐ์แคนขึ้นช้ากว่าไทย เห็นข้อบกพร่องของแคนไทยแล้วจีนจึงสร้างแคนของตนได้งามสมบูรณ์แบบกว่า
สำหรับเพลงไทยนั้นก็ได้มีการพยายามศึกษาหาหลักฐาน อย่างเช่น ปัญญา รุ่งเรืองได้กล่าวว่า มีเพลงไทยโบราณยุคน่านเจ้า เพลงหนึ่งซึ่งอาจารย์ ดร.กำธร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้มาจากออกซฟอร์ดว่าเป็นบทเพลงเกี่ยวกับการที่ไทยเราส่งทูตไปเจริญทางไมตรีกับจีน เพลงนั้นเรียกกันว่า “น่านเจ้าจิ้มก้อง” หรือทูตไทยเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงจีน และหากจะมีข้อแย้งว่า เป็นเพลงที่มีลักษณะเป็นเพลงจีนมากกว่าเพลงไทยนั้น ปัญญา รุ่งเรืองก็ได้ให้ข้ออธิบายไว้ว่า ตัวอย่างในเทปบันทึกเสียงนั้น บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีจีน คือ ปีปะ (Pi Pha) ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีรูปร่างคล้ายกระจับปี่ของไทย แต่กระทัดรัดกว่า ส่วนการบรรเลงใช้ดีดเหมือนกัน จึงทำให้สุ้มเสียงออกไปทางจีน ๆ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ พืชพรรณ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ สามารถบังคับลักษณะนิสัยและอารมณ์ของคน และแม้แต่สำเนียงภาษาให้เปลี่ยนไปได้ เช่น ภาษาถิ่นของไทยทางเหนือ และไทยทางใต้ต่างกันออกไปมากทั้ง ๆ ที่เป็นภาษาเดียวกัน ดังนั้นทำนองเพลงจึงผิดเพี้ยนจากสำเนียงไทยไปบ้าง แต่ยังมีบางตอนที่เห็นว่าเป็นไทยชัดเจนดังเช่นตอนท้าย ๆ ของเพลง
จากความเชื่อที่ว่า เพลงน่านเจ้าจิ้มก้องอันเป็นเพลงของจีนนั้นน่าจะมีเค้ามาจากเพลงไทย ก็นับเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นมาของเพลงไทย ซึ่งเชื่อกันว่าเพลงไทยก็ได้มีอิทธิพลในที่คนไทยเคยอาศัยอยู่ในอาณาจักรต่าง ๆ อีกมากมาย และหากมีการได้พบที่มาของเพลงดังที่อ้างแล้วข้างต้น ก็อาจจะเป็นข้อสันนิษฐานและให้ความเชื่อว่าเพลงไทยน่าจะมีความเป็นมาอย่างไรจากไหนบ้างยิ่ง ๆ ขึ้น ถือเป็นหลักฐานสำคัญต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น